“เงา” เริ่มที่จะมองเห็นเศษเสี้ยวของความทรงจำที่ก้าวข้ามกาลเวลาและสถานที่ มันดำดิ่งลงสู่โลกใต้ดิน เริ่มสัมผัสสิ่งของที่ถูกทิ้งไว้ รับฟังความทรงจำของผู้ที่เคยดำรงบนเส้นทางของกาลเวลา และตามรอยสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นที่นั่น จากภาพที่เธอเคยเห็นในโรงละคร เธอมุ่งหน้าไปยังเมืองที่จมอยู่ใต้ก้นทะเลสาบเหนือเขื่อน
Director’s statement :
เริ่มต้นจากภาพยนตร์เรื่องแรกของฉัน Thus A Noise Speaks (2010) ซึ่งจบลงด้วยคำว่า “แน่ล่ะ วันหนึ่งเราจะจดจำมันได้” และต่อด้วย FLASH (2015) ภาพยนตร์สั้นที่ตั้งคำถามว่า “ความทรงจำแรกสุดที่ฉันนึกออกคืออะไร?”...ฉันได้เดินหน้าสำรวจประเด็นเรื่องความทรงจำของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
ใน Aragane (2015) ฉันได้ค้นพบความทรงจำที่จับต้องไม่ได้ซึ่งฝังอยู่ในเนื้อแร่ถ่านหินและกระบวนการขุดเจาะของมัน ส่วนใน Cenote (2019) ฉันพยายามเปิดเผยความทรงจำร่วมที่ดำรงอยู่ข้ามกาลเวลาในสายน้ำ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องตั้งอยู่ในพื้นที่ใต้ดิน ฉันคิดว่า การลงไปใต้ดินอาจทำให้ฉันพบเบาะแสบางอย่างของสิ่งที่คลุมเครือ ยากจะจับต้อง ซึ่งก็คือ “ความทรงจำ” เอง
ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของฉันคือ Underground ฉันได้ดำดิ่งลึกยิ่งขึ้นในการสำรวจความทรงจำ ระหว่างกระบวนการสร้าง ฉันครุ่นคิดถึงธรรมชาติของความทรงจำที่เป็นทั้งของส่วนรวมและเกิดจากการประกอบสร้างร่วมกัน รวมถึงความสัมพันธ์ของมันกับ “เวลา” ซึ่งก็เป็นอีกสิ่งที่ยากจะจับต้องได้ ฉันถามตัวเองว่าทำไมเราจึงอยากรักษาความทรงจำไว้ผ่านสื่อบันทึกอย่างภาพยนตร์ ในขณะที่เรากำลังปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มนุษย์ย่อมสูญพันธุ์ไปในสักวันหนึ่ง และตราบเท่าที่เรายังเป็นมนุษย์ คุณกับฉันก็จะตายอย่างแน่นอน แต่กระนั้น ฉันก็ยังอยากยืนยันว่าทุกคนต่างเคยดำรงอยู่ ณ ที่ตรงนี้ และนั่นคือเหตุผลที่วันนี้ฉันเชื่อว่า สิ่งที่ฉันทำ คือการทิ้งภาพยนตร์ไว้เป็น “ร่องรอยมีชีวิต”
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราเรียกสิ่งหนึ่งว่า “เงา” สิ่งที่ทำหน้าที่เดินทางผ่านร่องรอยแห่งชีวิตของอดีตกาล ปัจจุบัน และอนาคตอันไกลโพ้น ฉันตั้งใจใช้เงานี้เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างใต้ดินกับผิวดิน ระหว่างสิ่งที่สูญหายกับสิ่งที่ยังหลงเหลือ ระหว่างผู้มีชีวิตกับผู้ล่วงลับ เพื่อประกอบสร้างภาพของ “พวกเรา” ความตาย การสูญเสีย และสิ่งที่ถูกทิ้งไว้… ในใต้ดิน ซึ่งเป็นสถานที่ที่สัมผัสสัญญะเหล่านี้ได้ กลไกของภาพยนตร์ก็สามารถทำให้ “เวลาอันเยือกแข็ง” เคลื่อนไหวอีกครั้งได้ในชั่วขณะ สถานที่ที่เคยถูกซ่อนเร้น ปกปิด หรือกลบฝัง ได้ถูกเปิดเผยขึ้นอีกครั้งผ่านสายตาของผู้มีชีวิต ซึ่งในภาพยนตร์นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่พวกเราผู้สร้างหนังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ชมที่กำลังจ้องมองไปยังหน้าจอด้วย
ร่องรอยแห่งชีวิต เมื่อถูกจ้องมองผ่านภาพยนตร์และเปิดเผยสู่แสงสว่าง จึงกลายเป็นความทรงจำร่วมของพวกเราทั้งหมด
ปรากฏการณ์ประหลาดของคำว่า “พวกเรา” ได้รับการก่อรูปใหม่ เมื่อลำดับชั้นของความทรงจำร่วมถูกเติมแต่งขึ้นอีกชั้นหนึ่ง
ฉันหวังว่า ภาพยนตร์ของฉันจะทำให้ “พวกเรา” เกิดใหม่อีกครั้ง
เกิดที่โอซากา (ประเทศญี่ปุ่น) ในปี 1987 Kaori Oda เป็นผู้กำกับภาพยนตร์/ศิลปินที่สำรวจความทรงจำของมนุษย์ผ่านภาพและเสียง เธอใช้ชีวิตอยู่ในเมืองซาราเยโวเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2013 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านศิลปศาสตร์ (สาขาภาพยนตร์) ภายใต้การดูแลของ เบลา ทาร์ ในปี 2016 ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเธอเรื่อง Aragane (2015) ที่ถ่ายทำในเหมืองถ่านหินในบอสเนีย ได้รับการฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติยามากาตะ และได้รับรางวัลชมเชยพิเศษ ส่วนภาพยนตร์เรื่องที่สองคือ Toward A Common Tenderness (2017) งานวิจัยภาพยนตร์เชิงกวี ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ DOK Leipzig และ TS’ONOT / Cenote (2019) ที่ถ่ายทำในถ้ำใต้น้ำที่ยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก ฉายรอบปฐมทัศน์ในสาย Bright Future ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ปี 2020
ผลงานล่าสุดของเธอ GAMA (2023) ซึ่งมีความยาวระดับกลาง ได้รับคัดเลือกฉายที่ MoMA Doc Fortnight, Cinéma du Réel และ Festival du cinéma de Brive (รางวัลคณะกรรมการนักวิจารณ์ SFCC) เธอได้รับรางวัล Nagisa Oshima Prize รุ่นแรกในปี 2020 และรางวัล New Face จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นด้านวิจิตรศิลป์ ในปี 2021
Filmography :
Cenote (2019)
Toward A Common Tenderness (2017)
Aragane (2015)
Lighthouse (2024)
GAMA (2023)
Homo Mobilitas (2022)
Karaoke Cafe BOSA (2022)
Night Train (2021)
Water Scape (2021)
OUR CINEMAS (2020)
Night Cruise (2019)
Wind Church (2019)
TUNE (2018)
Cine nouveau (2017)
TEN (2017)
Theory of Colours: prologue (2017)
FLASH (2015)
Ko Oh (2014)
The Thread of Red Cocoons (2012)
Thus A Noise Speaks (2010)